การดำเนินคดีแพ่ง


          ขั้นตอนการดำเนินคดีแพ่ง

          การเริ่มต้นคดีแพ่ง แบ่งแยกได้ 2 กรณี คือ
          1. เริ่มต้นโดยการฟ้องดำเนินคดี เป็นคดีมีข้อพิพาท เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง
          2. เริ่มต้นโดยทำเป็นคำร้อง เป็นคดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล เช่น ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก หรือร้องขอในเรื่องความสามารถของบุคคล เป็นต้น

          ซึ่งการเริ่มต้นคดีแพ่งไม่ว่าเป็นคดีมีข้อพิพาท หรือไม่มีข้อพิพาท ก็ตาม จะต้องเสนอคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเท่านั้น หากเสนอคดีต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ศาลก็ไม่สามารถรับคดีนั้นไว้พิจารณาได้ ซึ่งทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีคดีผู้บริโภคที่กฎหมายกำหนดให้มีขั้นตอนและวิธีพิจารณาคดีแยกต่างหาก ดังนั้น การดำเนินคดีผู้บริโภคจึงมีวิธีพิจารณาคดีที่แตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วๆไป

          เมื่อมีการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี ก็จะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมศาล ในอัตราที่กำหนดในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง รวมทั้งค่านำหมายให้แก่คู่ความ ตามอัตราที่ศาลกำหนด

          กรณีที่เป็นคำฟ้อง เมื่อยื่นฟ้องแล้ว โจทก์ต้องส่งหมาย เรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของจำเลย เพื่อให้จำเลยให้การแก้คดี โดยโจทก์ต้องนำเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเรียกแก่จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นคำฟ้อง หากโจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลย และไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง กฎหมายให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ศาลก็จะจำหน่ายคดี แต่ถ้าโจทก์ได้นำหมายภายในกำหนด และ
เมื่อจำเลยได้รับคำฟ้องไว้โดยชอบแล้ว จะต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายใน 15 วัน หรือกรณีที่เป็นการปิดหมายไว้โดยชอบ จำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายใน 30 วันนับแต่วันปิดหมาย เว้นแต่กรณีเป็นคดีมโนสาเร่ (คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท หรือคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาทที่จำเลยสามารถมาให้การในวันที่ศาลนัดได้ โดยในคดีมโนสาเร่ เมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลตามมาตรา 193 แล้ว ไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดีให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ส่วนจำเลยเมื่อได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 193 แล้วไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การไว้ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยนำมาตรา 198 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้ก่อนหรือในวันนัดดังกล่าว ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และให้บังคับตามมาตรา 204 ถึงมาตรา 207 และไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ถ้าศาลมีคำสั่ง ให้สืบพยานก็ให้ศาลดำเนินการต่อไปตามมาตรา 193 ตรี มาตรา 193 จัตวา และมาตรา 193 เบญจ
ทั้งนี้ กรณีคดีแพ่งสามัญ ที่จำเลยไม่ให้การภายในกำหนด ก็จะใช้การพิจารณาโดยขาดนัด สำหรับกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้น โจทก์ก็จะต้องมีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่ง ชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด และถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ ส่วนถ้าโจทก์ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดไปตามมาตรา 198 ทวิ โดยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ตั้งแต่มาตรา 198 ทวิ จนถึงมาตรา 199 ฉ 
และภายใต้บังคับ มาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ในวันนัดพิจารณาถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา จากนั้นก็จะเป็นการดำเนินคดีโดยขาดนัดพิจารณา ตั้งแต่มาตรา 201 ถึงมาตรา 207 ต่อไป
สำหรับในการฟ้องคดีก็จะมีบทบัญญัติที่สำคัญเป็นข้อห้ามในเรื่อง ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ การห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ รวมทั้งคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความ
ระหว่างการพิจารณาคดีนี้บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในคดีก็อาจเข้ามาในคดีได้โดยการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามหรือเป็นคู่ความร่วมกับคู่ความในคดีเดิมได้ ตามมาตรา 57 
            กรณีที่ความปรากฏต่อศาลว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณะลงในระหว่างการพิจารณาคดีนั้นไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นใด ก็จะต้องเลื่อนคดีออกไปเพื่อรอให้ทายาท หรือผู้จัดการทรัพย์มรดก หรือผู้ที่ปกครองทรัพย์มรดกของคู่ความฝ่ายที่มรณะนั้นได้มีการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะเพื่อจะดำเนินคดีต่อไป
            เมื่อมีการพิจารณาโดยการสืบพยานหลักฐานกันเสร็จสิ้น ศาลก็จะมีคำพิพากษาคดี และหากฝ่ายใดไม่พอใจในคำพิพากษาก็สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ต่อไปตามลำดับชั้น เว้นแต่เป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่อย่างไรก็ตาม การอุทธรณ์หรือฎีกาในคดีแพ่งนี้ ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่คู่ความที่ยื่นอุทธรณ์(ฎีกา)อาจยื่นคำขอต่อศาลอุทธรณ์(ฎีกา)ไม่ว่าเวลาใดๆก่อนพิพากษา โดยทำเป็นคำร้องชี้แจงเหตุผลอันสมควรแห่งการขอ ให้ศาลทุเลาการบังคับไว้

          การบังคับคดีตามคำพิพากษา 
          เมื่อคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง(ชั้นที่สุด) โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น (มาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) หากไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในกำหนดระยะเวลาสิบปี ก็ไม่สามารถบังคับคดีได้อีกต่อไป
          สำหรับขั้นตอนบังคับคดีนั้น ถ้าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงินที่ฝ่ายแพ้คดีต้องชำระ ก็จะมีการยึดทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาดำเนินการขายทอดตลาด ในขั้นตอนนี้ ก็อาจมีบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้เสียจากการขายทรัพย์สินนั้นทอดตลาด เช่น เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นเอง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น เจ้าหนี้จำนอง หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นๆ เป็นต้น ก็อาจเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายทรัพย์นั้น อาจจะเป็นการเข้ามาร้องขอกันส่วน ร้องขัดทรัพย์ การขอรับชำระหนี้ก่อนในกรณีบุคคลภายนอกเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์หรือเจ้าหนี้จำนอง หรือการขอเฉลี่ยทรัพย์
เว็บสำเร็จรูป
×